คำแนะนำ บางทีก็ไม่เวิร์คเสมอไป แค่ฟังด้วยใจ ก็ช่วยได้มากแล้ว

“คำแนะนำ” บางทีก็ไม่เวิร์คเสมอไป แค่ “ฟังด้วยใจ” ก็ช่วยได้มากแล้ว ทำอย่างงี้สิ…, เธอควรจะทำอย่างงี้นะอย่าไปคิดอย่างนั้นเลย…, เชื่อฉัน ฉันเป็นมาก่อน… เมื่อเราพบเจอใครสักคนที่ดูเหมือนมีปัญหา เค้าอาจจะเล่า ระบายหรือแสดงท่าทางให้เรารับรู้โดยมากแล้วเราก็มักจะอดไม่ได้ที่อยากจะช่วยซึ่งก็มักจะให้ “คำแนะนำ” หรือบอกว่าเค้าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ด้วยหวังว่าคำแนะนำของเราจะช่วยบรรเทาปัญหาของเค้าได้ แต่เราอาจจะลืมนึกไป ในบางครั้ง เค้าก็เพียงแค่อยากระบาย อยากบ่น อยากพูด โดยไม่ต้องการคำแนะนำหรือแก้ปัญหาใดๆ ก็ได้ และเมื่อได้รับคำแนะนำที่ไม่ตรงกับความต้องการมักเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจ ทำให้บทสนทนาต่อจากนั้น กลายเป็นการบอกว่าคำแนะนำนั้นไม่เหมาะกับเค้าเพราะอะไร ทำไมเค้าถึงไม่ทำ และคนที่ให้คำแนะนำก็อาจจะเกิดความขุ่นเคืองที่อยากช่วย แต่เค้าไม่เชื่อและทำตามที่ได้แนะนำ เพราะคนแต่ละคน เติบโตมาอย่างแตกต่างกันการแก้ปัญหาของคนหนึ่ง จึงอาจจะไม่ได้เหมาะกับอีกคน และเรามักแนะนำบนพื้นฐานของสิ่งที่ได้ยินเค้าเล่า ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ในชีวิตของเค้าโดยไม่ได้รู้บริบทของชีวิตทั้งหมดของเค้า และจริงๆ แล้วหากเราเข้าใจว่า ผู้คนที่มาปรึกษา บางครั้งเค้าก็แค่อยากมีตัวตน โดยมีใครบางคนรับฟังเค้าแบบที่เค้าเป็นจริงๆ โดยไม่ตัดสินว่าเค้าถูก/ผิด หรือบอกว่าเค้าควร/ไม่ควรทำอะไร แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว การฟัง โดยไม่ตัดสินและแนะนำ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย แต่หากทำได้ จะเป็นการช่วยเหลือให้คนที่กำลังต้องการใครสักคนที่รับฟังเค้า ได้คลายความทุกข์ได้มากมายเลยค่ะ แค่อยู่ตรงนั้น..รับฟังด้วยใจ..ก็ช่วยเค้าได้มากแล้ว บทความโดย อาจารย์ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)

การช่วยเหลือผู้อื่น ดีอย่างไร

การช่วยเหลือผู้อื่น ดีอย่างไร หลายคนคงเคยรู้สึกดีเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอาสาสมัครต่าง ๆ ช่วยผู้สูงอายุจ่ายตลาด ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติหรือแม้แต่การรับฟังความทุกข์จากผู้อื่น ก็มักจะเกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก เคยสงสัยมั้ยคะ ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น มีงานวิจัยได้สำรวจคนจำนวน 1000 คนที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งจากทำงานอาสาสมัครและการช่วยเหลือผู้อื่นแบบทั่ว ๆ ไปผลปรากฎว่าผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นบ่อยครั้ง จะมีอารมณ์เชิงบวกที่สูงขึ้น อารมณ์เชิงลบลดลง และพึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนเองมากขึ้น และยังพบว่า การรับฟังความรู้สึกของผู้อื่น (Emotional support) โดยไม่มุ่งไปแก้ไขปัญหายังส่งผลให้ความรู้สึกเชิงลบของผู้รับฟังลดลงด้วย นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่กล่าวไว้ว่า การที่เราเห็นใครทำความดี ช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะพบเห็นโดยตรง หรือผ่านหนังสือ ภาพ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็จะทำให้ผู้ที่พบเห็นนั้นมีความรู้สึกอยากช่วยเหลือ หรือทำความดีในรูปแบบที่ตนเองสามารถทำได้อีกด้วย จะเห็นว่าทุกสิ่งที่เราทำ ไม่ได้ส่งผลดีเพียงตัวเราหรือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงคนอื่น ๆ อีกมากมายที่ได้รับรู้ หรือพบเห็น เรียกได้ว่า การช่วยเหลือ หรือทำความดีของคนคนหนึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายได้กระจายกันทำความดีต่อ ๆ ไปค่ะ ส่วนหนึ่งจากบทความ Greater Good Magazine https://greatergood.berkeley.edu/article/item/helping_others_can_help_you_feel_better_during_the_pandemic บทความโดย อาจารย์ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)