5 เหตุผลที่ทำให้คน Burnout และบทบาทของผู้นำ

คนทำงานในยุคนี้คงคุ้นเคยกับคำว่า Burnout หรือหมดไฟในการทำงาน ซึ่งในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าภาวะนี้ เป็นกลุ่มอาการที่เฉพาะเจาะจงเรื่องอาชีพ (Occupation) ซึ่งเราจะได้ยินว่ามีคนเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพภาพกาย และจิตใจของคนทำงานเอง และส่งผลต่อประสิทธิภาพงาน รวมถึงการเติบโตขององค์กรด้วย
.
Gallup (2018) ได้สำรวจจาก 15 องค์กรที่มีคนเกิดภาวะ Burnout มากที่สุด ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
.
1. ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม (Unfair) เช่น หัวหน้าลำเอียง สองมาตรฐาน การได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ไม่ไว้วางใจหัวหน้ารวมถึงเพื่อนร่วมงานด้วย

2. ภาระงานมากเกินไป (Workload) ทำให้รู้สึกท่วมท้น และสิ้นหวังเมื่อจัดการงานไม่ได้ เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ คนทำงานก็คาดหวังว่าหัวหน้าจะเป็นกระบอกเสียงเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้

3. หน้าที่ไม่ชัดเจน (Role Clarity) ในบางครั้งคนทำงานอาจจะไม่ได้รับความชัดเจนถึงของเขตหน้าที่ ความคาดหวัง รวมถึงเป้าหมายที่องค์กรต้องการทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร เพื่ออะไร หัวหน้าจึงควรพูดคุยถึง เป้าหมาย ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบให้ รวมถึงความคาดหวังที่ต้องการให้ชัดเจน

4. ไม่ได้รับการสื่อสารและสนับสนุนจากหัวหน้า ในหลายองค์กรที่หัวหน้าคอยรับฟัง สื่อสารกับทีมงานเสมอ คนทำงานจะรู้สึกอุ่นใจ แต่ในทางตรงข้ามหลายครั้งที่หัวหน้าไม่มีเวลา สื่อสารกับทีมงาน ก็จะทำให้เมื่อทีมงานเผชิญปัญหาก็รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการสนับสนุน

5. เกิดการบีบคั้นด้วยเวลา ในปัจจุบันที่ทุกอย่างเร่งรีบ มีแต่งานที่เร่ง เร่งกว่า และเร่งที่สุด เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คน Burnout เพราะไม่สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ทันกับเวลาที่มี 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หัวหน้าหรือผู้นำองค์กรจึงควรป้องกันสาเหตุดังกล่าว รวมถึงคอยสังเกตทีมงานของเราว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์ไหน เพื่อยื่นมือเข้าไปช่วยแก้ไขได้ทันท่วงที
.
ซึ่ง Jennifer Moss (2019) จาก Harvard Business Review ได้เสนอว่าหัวหน้าควรมีบทบาทที่ช่วยป้องกันอาการ Burnout ไม่ให้เกิดกับทีมงาน ดังนี้
.
สร้างแรงจูงใจ (Motivation) และปัจจัยสุขอนามัย  (Hygiene Factor)

โดย Frederick Herzberg ได้กล่าวว่าผู้นำจะต้องสร้างปัจจัยสุขอนามัย คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เช่น นโยบาย ค่าจ้าง ความสัมพันธ์ เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้ จะทำให้คนทำงานไม่พึงพอใจ นอกจากนั้นยังต้องเสริมสร้างแรงจูงใจ ให้ตรงกับคนทำงาน เช่น การสำเร็จ การยอมรับนับถือ ความรับผิดชอบและอำนวจตัดสินใจ ลักษณะของงานที่มีคุณค่า และความก้าวหน้า โดยหัวหน้าจะต้องเสริมสร้างแรงจูงใจให้ตอบโจทย์แต่ละบุคคลด้วย
.
ตั้งคำถามที่ดี

การที่ผู้นำตั้งคำถามจากช่วยให้เข้าใจทีมงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการทำงานที่ดี เช่น

– ถ้าฝ่ายเรามีงบประมาณ xxx บาท พวกเราคิดว่าเราควรใช้ทำอะไรเป็นลำดับแรก 
– อะไรที่เราควรเปลี่ยนแปลง
– อะไรที่เราควรคงอยู่ต่อไป
– เครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เราต้องการการสนับสนุน
.
คำถามนี้จะช่วยให้ทีมงานได้ออกความเห็นในการส่งเสริมการทำงาน หรือแก้ปัญหาในการทำงานที่ตรงใจของพวกเขา ซึ่งในบางครั้งการส่งคำถามผ่าน Google form ก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบเพียงพอ ผู้นำอาจจะต้องเข้าไปหาทีมงานและพูดคุยอย่างเป็นกันเองเพื่อทำความเข้าใจทีมงานมากยิ่งขึ้นว่าเขาคิดอย่างไร และป้องกันรวมถึง แก้ไขได้ตรงจุด โดยการจัดกิจกรรมเสริมสุขภาวะ เช่น การฝึกสติ โยคะ หรือจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการฟื้นคืนพลัง (Resilience) ก็สามารถทำควบคู่กันไปได้ค่ะ

บทความโดย ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)

Delighten group
Surf the waves of change
https://www.delighten.co.th/thita/

ฟื้นจากความเครียดและสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วย RAINS Process<<