Small Talk ยังไงให้มีคุณค่า และน่าสนุก

ลองจินตนาการดูนะคะว่า ถ้าเราเดินเข้าไปในห้องประชุมที่มีคนมากมาย แต่ไม่มีใครที่เรารู้จักเลยสักคน จะเป็นอย่างไร บางคนก็อาจจะรู้สึกอึดอัด กระอักกระอ่วน อยากจะพูดคุย ทักทายกับคนใหม่ ๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง…งั้นไปหาที่นั่งเงียบ ๆ มุมห้อง นั่งนิ่ง ๆ คนเดียวดีกว่า
สำหรับบางคนการพูดคุยทักทายทั่ว ๆ ไป แบบเบา ๆ (Small talk) นี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และใช้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนได้สบาย ๆ แต่สำหรับบางคนก็อาจคิดว่ายากจัง หรือบางครั้งก็รู้สึกว่า Small talk เป็นเหมือนการเม้าท์มอย เสียเวลา และน่าเบื่อ เลยทำให้ไม่อยากไปเจอคนใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ หรือเริ่มบทสนทนากับคนอื่น ๆ
จริง ๆ แล้ว Small talk นี้ก็มีประโยชน์ในการทำงานมากมาย Harvard Business Review ได้ทำการศึกษาและพบว่าการได้พูดคุยกัน (เรื่องทั่ว ๆ ไป) ในการทำงาน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เกิดความร่วมมือกัน เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และ Performance ดีขึ้น
นอกจากนั้น Forbes ยังกล่าวว่าการ Small talk ทำให้คนเรารู้สึกดีขึ้นเพราะได้เชื่อมโยงกับผู้อื่น และงานวิจัยของ University of Michigan พบว่าการพูดคุยกับผู้อื่นด้วยความเป็นมิตรนั้น ช่วยทำให้เราฉลาดขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสะดวกสบาย
เห็นมั้ยคะว่าแค่การพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไป เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีประโยชน์มากมาย และสำหรับบางคนที่อาจจะสนใจอยากเริ่มฝึก Small talk ดูบ้าง
วันนี้ปุ๊ก็มี 8 ความลับที่ทำให้ Small talk มีคุณค่าและน่าสนุก จาก Forbes ให้เรานำไปลองใช้กันค่ะ
✅ แสดงความสนใจคู่สนทนา (อย่างจริงใจ)
หากเราพูดคุยด้วยการสนใจคู่สนทนาอย่างจริงใจ ซึ่งอาจจะทำได้หลายแบบ เช่น การจำชื่อและเรียกชื่อของเขาในบทสนทนานั้น ๆ การตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด จะทำให้การเกิดความสัมพันธ์และความไว้วางใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
✅ คุยเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกัน
บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าจะชวนคุยเรื่องอะไรดี ลองหาเรื่องที่เรากับเขามีความเกี่ยวข้องกัน หรือมีบางอย่างร่วมกัน เช่น เรียนจบจากที่เดียวกัน เคยทำงานสายงานเดียวกัน เป็นพี่คนโตเหมือนกัน ชอบไปทะเลเหมือนกัน เชียร์บอลทีมเดียวกัน การเปิดด้วยบทสนทนาแบบนี้ เชื่อว่าจะทำให้เขาเปิดใจได้ง่ายขึ้นและการพูดคุยจะออกรสออกชาติทีเดียวค่ะ
✅ ยิ้มและพยักหน้า
ฟังดูข้อนี้ทำได้ง่ายมาก แต่ให้ผลลัพธ์ทรงพลังมาก ๆ นะคะ เพราะสีหน้าท่าทางเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่าย และทำให้คนที่เราพูดคุยด้วยนั้น เชื่อมั่นว่าเรากำลังใส่ใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด ทำให้เขาเกิดความสบายใจที่จะสนทนากับเรา
✅ ใช้คำถามและฟัง
หลายคนอาจจะกังวลและไม่รู้จะเตรียมตัวอย่างไร ก่อนที่จะ Small talk สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ คือการใช้คำถามค่ะ เช่น อาจจะถามเกี่ยวกับความสนใจของเขา หรือเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ส่วนตัวเกินไปนัก หรือไม่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้ง จากนั้นก็ฟัง พยักหน้าและเรียกชื่อของเขาเมื่อมีโอกาส
✅ ฝึกบ่อย ๆ
ในช่วงเริ่มต้น เราอาจจะเกิดความกังวล และติดขัดเล็กน้อยในการเริ่มต้นพูดคุย เมื่อเราฝึกฝนบ่อย ๆ ก็จะทำได้สบายขึ้น เราจะรู้ว่าคำถามแบบไหนใช้แล้วเวิร์ค หรือเมื่อพูดคุยไป เราจะเริ่มได้ยินถึงเรื่องที่เชื่อมโยงเรากับเขาได้ง่ายยิ่งขึ้น และสามารถหยิบมาคุยต่อได้
✅ไม่มุ่งสร้างความประทับใจ โดยโอ้อวดพูดเยอะ
บางครั้งหลายคนอาจจะต้องการสร้างความประทับใจ หรือสร้างให้คู่สนทนารับรู้ว่าเราเก่ง หรือมีดี อาจทำให้เราพูดเยอะไป กลายเป็นดูโอ้อวด อารมณ์เดียวกับคุยกับคุณป้าข้างบ้านก็ได้นะคะ
✅ มี Topic ที่ใช้ประจำ
เมื่อเรามีโอกาสพูดคุยบ่อย ๆ แล้วนึกไม่ออกว่าจะคุยอะไรดี ก็สามารถใช้ Topic ประจำในการพูดคุยได้ เช่น เรื่องราวหรือกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ๆ ที่คนทั่วไปรับรู้ แพลนสำหรับไปเที่ยวปีใหม่ หนังดังที่เพิ่งเข้าฉาย หรือสภาพอากาศที่เย็นขึ้นในช่วงนั้น ฯลฯ ก็จะทำให้เปิดบทสนทนาได้ง่ายขึ้น
✅ ใช้คำชื่นชม
คนเรามักจะชอบคำชื่นชมอยู่แล้ว เพราะทำให้รู้สึกเชิงบวกได้ง่าย ซึ่งการชมมักจะได้ผลดีหากคำชมนั้น ๆ มาจากความจริงใจประกอบกับสีหน้าท่าทางที่สอดคล้องกันด้วย ซึ่งเราจะต้องมองเห็นสิ่งที่ดีงามในตัวของคู่สนทนาได้อย่างแท้จริง จึงสามารถชื่นชมเขาได้อย่างจริงใจนั่นเอง
ลองเลือกหยิบไปใช้กันนะคะ นอกจากจะทำให้เรารู้สึกสบายใจเมื่อต้องพบเจอผู้คนใหม่ ๆ และยังทำให้ผู้คนรับรู้ว่าเราเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ เข้าถึงได้ง่าย (Approachable) ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งโอกาสดี ๆ ในอนาคตก็ได้นะคะ
อ้างอิงจาก
Nancy Baym, Jonathan Larson, and Ronnie Martin.What a Year of WFH Has Done to Our Relationship at Work.2021;.Hbr.0rg
Brett Nelson.Six Reason Small Talk Is Very Important — And How To Get Better At It.2012;.Forbes.c0m
Young Entrepreneur Council.Eight Secrets To Make Small Talk Pleasant, Worthwhile And Informative.2019;.Forbes.c0m
บทความโดย อาจารย์ฐิตา ภัทรวรวิศิษฏ์ (อ.ปุ๊)